หน้าเว็บ

วิสัยทัศน์ กศน.แขวงบ้านพานถม เรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ ก้าวทันเทคโนโลยี



เคล็ด(ไม่ลับ) สำหรับคน(อยาก)เรียนเก่ง

เคล็ด(ไม่ลับ) สำหรับคน(อยาก)เรียนเก่ง 

ในการเรียนให้เก่งนั้น ต้องอาศัยทักษะต่างๆ และหมั่นฝึกฝน อดทนและขยันอยู่เสมอ ซึ่งขั้นตอนในการปฎิบัติและวางแผนในการเรียนให้เราเรียนเก่งๆนั้น มีขั้นตอนดังนี้ 
1. การเตรียมตัวก่อนไปโรงเรียน 
ข้อคิดนี้สำคัญ และมองข้ามไม่ได้ เราต้องรู้จักประมาณตนในการเข้านอน โดยปกติแล้วคนที่หลังจากเลิกเรียนแล้ว เรียนพิเศษโดยเฉลี่ยประมาณชั่วโมงครึ่ง กลับบ้านมากินข้าว อาบน้ำ ทำการบ้าน และอ่านหนังสือทบทวน ไม่น่าจะเข้านอนเกิน 5 ทุ่ม 
สาเหตุที่เราเข้านอนเกินเวลา 
- เลิกเรียนแล้วเที่ยวเตร่ไม่รีบกลับบ้าน 
- มัวแต่เล่นเกม หรืออ่านหนังสือการ์ตูน ซึ่งถ้าทำเพื่อคลายเครียดก็ไม่ควรเกินครึ่งชั่วโมง และไม่ควรทำทุกวัน เพราะจะทำให้เราติดเป็นนิสัย 
- เล่น msn เพื่อแชตในเรื่องไร้สาระ จะทำให้เราไม่ดูเวลา ติดเป็นนิสัย 
- ดูละครไป ทำการบ้านไป 
- การบ้านค้างไว้นานๆ แล้วมารีบทำเมื่อถึงวันที่จะส่งแล้ว 
เมื่อเราหลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านี้ได้ ก็ขอให้เข้านอนให้ตรงเวลาทุกวันจะได้เกิดความเคยชิน และเมื่อตื่นขึ้นมาตอนเช้า ห้ามหลับต่อ และอย่าลืมรับประทานอาหารเช้าก่อนไปโรงเรียน 
2. จุดประกายในห้องเรียน 
- พยายามเลือกที่นั่งด้านหน้า ใกล้ครูให้มากที่สุด 
- ถ้าเลือกที่นั่งไม่ได้ จำเป็นต้องนั่งข้างหลัง ก็ห้ามปรามเพื่อนรอบข้าง อย่าให้เขาชวนคุย เพราะจะรบกวนสมาธิ 
- ถ้านั่งริมหน้าต่าง ริมประตู อย่าไปสนใจสิ่งรอบข้าง 
- ไม่ต้องกลัวเวลาอาจารย์ถาม ถ้าเราตั้งใจเรียนและเตรียมตัวมาดี จะทำให้เรามีความมั่นใจเวลาอาจารย์ถามคำถาม 
- เมื่อมีข้อสงสัยให้รีบยกมือถามอาจารย์ทันที ไม่ต้องกลัวอายเพื่อน อย่าลืม "ด้านได้อายอด" 
3. หูฟัง ตามอง มือเขียน 
- มีสมาธิในการฟัง 
- มองสิ่งที่อาจารย์เขียนให้ดูบนกระดาน แล้วรีบจดลงไปในสมุด 
- ไม่ควรฟังไป เขียนไป จะทำให้เราพลาดเนื้อหาที่สำคัญๆ เราควรฟังให้เข้าใจก่อนแล้วค่อยบันทึก 
4. ชั่วโมงต่อไป ทำไงดี 
- อย่าเพิ่งรีบเก็บสมุดบันทึกก่อน ให้จดหัวข้อว่าวันนี้เรียนอะไรในสมุดอีกเล่ม เพื่อจะได้กลับไปทบทวนที่บ้าน 
- จดโน้ตคำถามสั้นๆไว้ในส่วนที่เรายังไม่เข้าใจ คาบต่อไปจะได้ไม่ลืมถามอาจารย์ 
- ลืมความเครียด ความกังวลในคาบก่อนหน้านั้นให้หมดสิ้น 
5. จุดประสงค์การเรียนรู้ หลักสูตร หรือโครงสร้างเนื้อหา มีความสำคัญ 
ถ้าเรารู้จุดประสงค์การเรียนรู้ของวิชานั้นๆ จะทำให้เรามีทิศทางในการเรียน เปรียบเสมือนแผนที่ที่คอยบอกว่า เราควรเดินไปในทิศทางไหน และมีส่วนสำคัญให้เราเลือกซื้อหนังสือไว้อ่านเพิ่มเติมด้วย 
6. จับประเด็น 
- ฟังอาจารย์ให้ดีๆ ตรงไหนอาจารย์เน้นคำ โดยใช้คำพูดที่หนักแน่นขึ้น 
- ตรงไหนอาจารย์พูดซ้ำ 2 รอบ 
- หัวข้อที่อาจารย์พูดถึงว่า ออกสอบบ่อยๆ 
- แนวแบบฝึกหัดที่อาจารย์ให้มาก็บอกใบ้แนวข้อสอบ 
7. สังเกตสไตล์การสอน 
- ถ้าอาจารย์ชอบให้ซักถาม ก็เตรียมคำถามไว้ถามล่วงหน้า 
- ถ้าอาจารย์ชอบสอนไปเรื่อยๆ ไม่สนใจว่านักเรียนตามทันหรือไม่ ก็ไม่ควรขัดจังหวะ โดยการถามคำถามอาจารย์ก่อน ให้จับประเด็นที่อาจารย์เน้นเอาเอง และค่อยถามอาจารย์นอกเวลา 
- ถ้าอาจารย์บรรยายน่าเบื่อ ฟังแล้วง่วงนอน ให้ปรับเปลี่ยนความคิดใหม่ว่า เป็นการฝึกให้นักเรียนเป็นนักจับประเด็น และเป็นการฝึกความอดทนไปในตัว พยายามท้าทายตัวเองว่า ต้องเป็นคนช่างสังเกตให้ได้ เหมือนกำลังเล่นเกมนักสืบ 
- อย่ามีอคติกับผู้สอน เพราะจะทำให้การเรียนน่าเบื่อ ซึ่งมีผลต่อคะแนน ความตั้งใจ และความเข้าใจตลอดเทอม 
8. เรียนอย่างเข้าใจ หาใช่เพื่อสอบผ่าน 
ฟังดูอาจเป็นผลดีที่ขยันเรียนอย่างเอาจริงเอาจัง แต่ความเป็นจริงแล้ว เมื่อสอบผ่านวิชานั้น ก็เป็นอันว่าหน้าที่นั้นสิ้นสุดลงแล้ว ไม่จำเป็นต้องเข้าใจเนื้อหานั้นอีกต่อไป ถ้าต้องเรียนเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง ค่อยไปรื้อฟื้นความเข้าใจเพื่อการสอบออกมาใหม่ นี่เป็นความคิดที่ผิด 
ความเข้าใจอย่างแตกฉาน จะมีประโยชน์ต่ออนาคต ต่อการดำรงชีพ ถ้าคิดแบบนี้ จะทำให้สามารถอธิบายวิเคราะห์ สรุปเนื้อหาได้อย่างแม่นยำ 
เพราะฉะนั้น การเรียนไม่ใช่การท่องจำเพื่อการสอบอย่างเดียว แต่ การเรียนคือ การหาความรู้ที่ยาวนาน คนที่ประสบความสำเร็จในการเรียน ไม่ใช่คนที่สอบได้คะแนนดีๆ แต่ คือคนที่ เรียนไปแล้ว ไม่ลืมความรู้ที่เรียนไปและสามารถนำไปใช้ได้ ต่างหาก
กศน.แขวงบ้านพานถม 110 ถนนกรุงเกษม แขวงบางขุนพรหม เขตพระนคร กทม. 10200 โทรศัพท์ 0-2280-8348 โทรสาร 0-2280-8349 มือถือ 083-270-1720