หน้าเว็บ

วิสัยทัศน์ กศน.แขวงบ้านพานถม เรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ ก้าวทันเทคโนโลยี



การรักษาอาการกรดไหลย้อน

วิธีรักษา
• งดการสูบบหรี่ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอลล์ น้ำอัดลม ชา กาแฟ 
• ลดอาหารมัน ของทอด ของหวาน 
• รับประทานอาหารให้เป็นเวลา หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารก่อนนอนอย่างน้อย 3-4 ชั่วโมง 
• ลดน้ำหนัก ให้อยู่ในเกณฑ์ที่พอดี 
 แนะนำการรักษากรดไหลย้อน
1. ปรับเปลี่ยนนิสัย และการดำเนินชีวิตประจำวัน การรักษาวิธีนี้มีความสำคัญมากโดยจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการน้อยลง ป้องกันไม่ให้เกิดอาการ และเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย โดยลดปริมาณกรดในกระเพาะอาหาร และป้องกันไม่ให้กรดไหลย้อนกลับขึ้นไปในระบบทางเดินอาหารและทางเดินหายใจ ส่วนบนมากขึ้น ที่สำคัญการรักษาด้วยวิธีนี้ควรทำอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต แม้ว่าผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นหรือหายดีแล้วโดยไม่ต้องรับประทานยาแล้วก็ตาม

นิสัยส่วนตัว
ถ้าเป็นไปได้ ควรพยายามลดน้ำหนัก ถ้าน้ำหนักเกิน เนื่องจากภาวะน้ำหนักเกินจะทำให้ความดันในช่องท้องมากขึ้น ทำให้กรดไหลย้อนได้มากขึ้น พยายามหลีกเลี่ยงอย่าให้เครียด และถ้าสูบบุหรี่อยู่ ควรเลิก เพราะความเครียดและการสูบบุหรี่ทำให้เกิดการหลั่งกรดมากขึ้น ถ้าไม่เคยสูบบุหรี่ ควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ หรือควันบุหรี่ หลีกเลี่ยงการสวมเสื้อผ้าที่คับเกินไป โดยเฉพาะบริเวณรอบเอว

นิสัยในการรับประทาน
หลังจากรับประทานอาหารทันที พยายามหลีกเลี่ยงการนอนราบ การออกกำลัง ยกของหนัก เอี้ยวหรือก้มตัว

หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารมื้อดึก และไม่ควรรับประทานอาหารใด ๆ อย่างน้อยภายในระยะเวลา 3 ชั่วโมงก่อนนอน

พยายามรับประทานอาหารที่มีไขมันต่ำ และพยายามหลีกเลี่ยงอาหารที่ปรุงด้วยการทอด อาหารมัน พืชผักบางชนิด เช่น หัวหอม กระเทียม มะเขือเทศ ฟาสต์ฟูด ช็อกโกแลต ถั่ว ลูกอม สะระแหน่ เนย ไข่ นม หรืออาหารที่มีรสจัด เช่น เผ็ดจัด เปรี้ยวจัด เค็มจัด หวานจัด เป็นต้น
รับประทานอาหารปริมาณพอดีในแต่ละมื้อ ไม่ควรรับประทานอาหารมากเกินไป ควรรับประทานอาหารปริมาณทีละน้อย ๆ แต่บ่อยครั้ง

หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มบางประเภท เช่น กาแฟ (แม้จะเป็นกาแฟที่ไม่มีกาเฟอีนก็ตาม) ชา น้ำอัดลม เครื่องดื่มที่ผสมแอลกอฮอล์ เช่น เบียร์ วิสกี้ ไวน์ โดยเฉพาะในตอนเย็น

นิสัยในการนอน
ถ้าจะนอนหลังรับประทานอาหาร ควรรอประมาณ 3-4 ชั่วโมง เวลานอน ควรหนุนหัวเตียงให้สูงขึ้นประมาณ 6 - 10 นิ้วจากพื้นราบ โดยใช้วัสดุรองขาเตียง เช่น ไม้ อิฐ อย่ายกศีรษะให้สูงขึ้นโดยการใช้หมอนรองศีรษะ เพราะจะทำให้ความดันในช่องท้องเพิ่มมากขึ้น

พบว่าประมาณร้อยละ 90 ของผู้ป่วยที่มีอาการของโรคกรดไหลย้อนสามารถควบคุมอาการได้ด้วยยา เพื่อลดปริมาณกรดในกระเพาะอาหาร หรือเพิ่มการเคลื่อนตัวของระบบทางเดินอาหารในการกำจัดกรด ปัจจุบันยาลดกรดกลุ่ม proton pump inhibitor เป็นยาที่สามารถยับยั้งการหลั่งกรดได้ดี สามารถเห็นผลการรักษาเร็ว ควรรับประทานยาสม่ำเสมอตามแพทย์สั่ง ไม่ควรลดขนาดยา หรือ หยุดยาเอง นอกจากแพทย์แนะนำ และควรมาพบแพทย์ตามแพทย์นัดอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง ซึ่งผู้ป่วยบางรายอาจใช้เวลานานประมาณ 1 - 3 เดือน กว่าที่อาการต่าง ๆ จะดีขึ้น
อาการต่างๆ อาจไม่ดีขึ้นเร็ว ต้องใช้เวลาในการหาย เมื่ออาการต่าง ๆ ดีขึ้น และผู้ป่วยสามารถปรับเปลี่ยนนิสัยและการดำเนินชีวิตประจำวันข้างต้นดังกล่าว ได้ และได้รับประทานยาต่อเนื่อง แพทย์จะปรับลดขนาดยาลงเรื่อยๆ ทีละน้อย ที่สำคัญไม่ควรซื้อยารับประทานเองเวลาป่วย เนื่องจากยาบางชนิดจะทำให้กระเพาะอาหารมีการหลั่งกรดเพิ่มขึ้น หรือกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนล่างคลายตัวมากขึ้น
การรักษาโดยใช้ยา
จะได้ผลดีที่สุดเมื่อมีการอักเสบของหลอดอาหาร ตัวยาลดกรด (Antacids) ใช้สำหรับผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรง และยาที่มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคกรดไหลย้อนที่แพทย์นิยมใช้ในปัจจุบัน คือ ยาลดกรดในกลุ่มโปรตอนปั๊มอินฮิบิเตอร์ (Proton pump inhibitors) โดยการใช้ยา ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ ถ้าไม่มีดีขึ้น อาจพิจารณาให้มีการตรวจเพิ่มเติม เช่น
• การกลืนแป้งตรวจกระเพาะ 
• การส่องกล้องตรวจกระเพาะ (ไม่นิยมใช้เนื่องจากวินิจฉัยได้ยาก) 
การผ่าตัด
หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรง รักษาด้วยยาแล้วอาการไม่ดีขึ้น จึงจะทำการรักษาด้วยการผ่าตัด ผูกหูรูดกระเพาะอาหาร เพื่อป้องกันไม่ให้กรดไหลย้อนขึ้นมาอีก

กศน.แขวงบ้านพานถม 110 ถนนกรุงเกษม แขวงบางขุนพรหม เขตพระนคร กทม. 10200 โทรศัพท์ 0-2280-8348 โทรสาร 0-2280-8349 มือถือ 083-270-1720